แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว จ.กระบี่

อ่าวพระนาง

aonang1 aonang2

ชายหาดอ่าวนาง

เป็นหาดทรายชายฝั่งทอดตัวยาว มีถนนเลียบชายหาดห่างจากหาดนพรัตน์ธาราประมาณ 6 กม. ภูมิทัศน์โดยรอบสวยงามด้วยเขาหินปูนสูงตระหง่านมีถ้ำพระนางซึ้งมีหินงอกหินย้อย สลับซ้อนกันเป็นชั้นๆ ชายหาดหลายแห่งที่สวยงามเช่นหาดไร่เลย์ หาดถ้ำพระนาง หาดน้ำเมาทั้ง 3 หาดนี้ต้องเดินทางโดยเรือเนื่องจากมีภูเขากั้นเมื่อมองไปในทะเลเห็นทิวทัศน์ของหมู่เกาะน้อยใหญ่กว่า 80 เกาะที่มีเอกลักษณ์ต่างๆกัน มีร้านค้า ที่พัก บริษัทนำเที่ยวเป็นจุดชุมนุมเรือท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของกระบี่สามารถหาเช่าเรือไปยังสถานที่ต่างๆเช่น หาดไร่เลย์ถ้ำพระนางและเกาะทั้งหลายในทะเลกระบี่

เขาขนาบน้ำ กระบี่

khaokhanabnam1 khaokhanabnam2

เขาขนาบน้ำ

เป็นสัญลักษณ์ของเมือง กระบี่ เลยทีเดียวมองเห็นเป็นเขาสูงสองลูกตั้งขนาบแม่น้ำ กระบี่ ด้านหน้าตัวเมืองนั่งเรือเพียง 15 นาทีก็ถึง สองฝั่งเป็นป่าชายเลนที่มีความสมบูรณ์สามารถขึ้นไปเที่ยวถ้ำบนเขาได้ ภายในมีหินงอกหินย้อยและเป็นสถานที่ที่เคยพบโครงกระดูกมนุษย์จำนวนมากสันนิสฐานว่าเป็นกลุ่มคนที่เคยมาตั้งหลักแหล่งในสมัยโบราณและอาจเกิดอุทกภัยอย่างฉับพลันทำให้ล้มตายลงพร้อมกันจำนวนมากแต่ปัจจุบันไม่มีหลงเหลืออยู่แล้วใกล้เขาขนาบน้ำเป็นชุมชนชาวเกาะกลางซึ่งมีพิพิธภัณฑ์และศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้าน แสดงเครื่องใช้สมัยโบราณและของที่ระลึกฝีมือชาวบ้านอีกทั้งได้สัมผัสวิถีชีวิตของคนในชุมชน ชมการทอผ้า การเลี้ยงปลาในกระชังการทำประมงพื้นบ้านของชาวกระบี่เป็นต้น

ประวัติความเป็นมาเขาขนาบน้ำนับเป็นภูเขาที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดกระบี่ เพราะเมื่อเดินทางเข้าถึงตัวจังหวัด ภาพที่งดงามประทับใจ คือภาพเขาขนาบน้ำเคียงคู่ หันหน้าเข้าหากันริมแม่น้ำกระบี่ มีหลักฐานยืนยันว่า เขาขนาบน้ำเคยเป็นที่พักอาศัยของผู้คนมาหลายยุคสมัยหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงยุคประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่ ๒

ลักษณะทั่วไป
บริเวณหลุมขุดทดลองเป็นเพิงผาขนาด ๒๓ x ๗ เมตร ตั้งอยู่ทางตอนล่างของเขาขนาบน้ำติดกับแม่น้ำกระบี่ พื้นผิวของแหล่งที่ขุดทดลอง อยู่เหนือระดับน้ำขณะน้ำขึ้นประมาณ ๑.๕๐ เมตร และได้ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าเศษหินที่หลุดออกมาเป็นสะเก็ด ตอนหน้าของบริเวณที่ขุดทดลองซึ่งมีอยู่ตลอดแนวที่ระดับน้ำท่วมถึงนั้น ยังคงมีการกัดเซาะอยู่เมื่อระดับน้ำสูงขึ้น ระยะสูงจากส่วนล่างของผนังเพิงผา ๕ เมตร มีรอยตัดอันเนื่องมาจากการซัดของคลื่นซึ่งแสดงให้เห็นว่าในช่วงหนึ่งในอดีต ระดับน้ำทะเลสูงกว่าปัจจุบันประมาณ ๕ เมตร ซึ่งดร. ไพบูลย์ ประโมจนีย์ นักธรณีวิทยาและผู้เชี่ยวชาญทางธรณีวิทยาเขตคาบสมุทรไทย ได้เปรียบเทียบรอยเซาะจากทะเลในถ้ำหลายแห่งบริเวณนั้น ได้ให้ข้อคิดว่า รอยตัดนั้นดูค่อนข้างใหม่ น่าจะมีอายุตรงกับสมัยไพลสโตซีน ตอนกลาง ในช่วงที่ระดับน้ำทะเลครั้งสุดท้ายขึ้นสูงสุด คือ อายุระหว่าง ๖,๐๐๐ - ๕,๐๐๐ ปี

ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ศาสตราจารย์ ดร. ดักลาส แอนเดอร์สัน จากมหาวิทยาลัยบราวด์ประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกับ ดร. พรชัย สุจิตต์ และดร. วรรณี วิบูลย์สวัสดิ์ แอนเดอร์สัน (นักมานุษยวิทยา) ได้ทำการขุดหลุมทดลอง เพื่อสำรวจทางโบราณคดี พบหลักฐานซึ่งบ่งชี้ว่าเป็นแหล่งที่เคยมีมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ อาศัยอยู่ก่อน 

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ภายใต้โครงการศึกษา แหล่งโบราณคดีช่วงปลายยุคไพลสโตชีน - โฮโลชีน โดยมี ดร. พิสุทธิ วิจารสรณ์ ผู้เชี่ยวชาญสำรวจจำแนกดิน กรมพัฒนาที่ดินเป็นหัวหน้าโครงการร่วมกับรศ.ดร.ไพบูลย์ ประโมจนีย์ นักธรณีวิทยาผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ศ.ดร.ดักลาส แอนเดอร์สัน และรศ.ดร.วรรณี วิบูลย์สวัสดิ์ แอนเดอร์สัน นักมานุษยวิทยา ได้รับเงินทุนจากรัฐบาลไทย ให้ทำการขุดค้นที่ถ้ำเขาขนาบน้ำ บริเวณทางซ้ายมือของหลุมทดลองที่เคยขุด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อศึกษาการปรับตัวของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่อาศัยอยู่ริมทะเลเมื่อประมาณ ๖,๐๐๐-๔,๐๐๐ ปี ซึ่งการขุดค้นจะอยู่ในความควบคุมดูแลของกรมศิลปากรและศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดกระบี่

หลักฐานที่พบ
บริเวณหลุมขุดค้นที่ทำการขุด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ พบหลักฐานหลายชิ้นที่แสดงว่าเคยมีมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์อาศัยอยู่เป็นต้นว่า เปลือกหอย กระดูกสัตว์ ที่มีร่องรอยการเผากินเป็นอาหาร ฟันสัตว์ เขี้ยวสัตว์ เศษถ่าน เศษภาชนะดินเผาประเภทหม้อสามขา กระดูกขามนุษย์ ฯลฯ หลักฐานเหล่านี้ ศ. ดร. ดักลาส แอนเดอร์สัน จะทำการศึกษาวิจัยในประเทศไทยให้เสร็จสิ้นแล้วส่งมอบให้กรมศิลปากร เป็นผู้เก็บรักษาไว้ ยกเว้นผงถ่าน ซึ่งจำเป็นต้องนำไปประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อทำการทดสอบด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า "Radio cabon ๑๔ " เพื่อหาอายุโดยประมาณของผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณแหล่งโบราณคดีเขาขนาบน้ำ ที่ทำการขุดค้นนี้
นอกจากนี้ ทีมงานที่ทำการขุดค้นได้เว้นพื้นที่ใกล้เคียงไว้เพื่อให้นักโบราณคดีในยุคต่อ ๆ ไป ที่สนใจและมีเครื่องมือที่ทันสมัยมากขึ้นได้ทำการขุดค้นหาหลักฐาน ที่ยังคงหลงเหลืออยู่เพื่อทำการศึกษาวิจัยต่อไปในอนาคต

เส้นทางเข้าสู่สถานที่สำคัญ
โดยสารเรือหางยาวจากท่าเรือสะพานเจ้าฟ้า ไปยังภูเขาซึ่งตั้งอยู่เบื้องหน้าลูกที่อยู่ทางขวามือใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาที หรือลงเรือจากโรงแรมกระบี่เมอร์รี่ไทม์ ไปยังภูเขาลูกทางซ้ายมือ ใช้เวลาประมาณ ๒-๓ นาที ก็จะถึงแหล่งโบราณคดีเขาขนาบน้ำ

สุสานหอย 75 ล้านปี

shell1 shell2

สุสานหอย

อยู่ในบริเวณชายทะเลบ้านแหลมโพธิ์ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 17 กม.มีซากดึกดำบรรพ์ของหอยน้ำจืดชนิดต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นหอยขม มีขนาดยาวประมาณ2 เซนติเมตร ซากหอยเหล่านี้ได้ทับถมกันจนกลายเป็นสุสานหอยโดยมีน้ำประสานธาตุปูนจับตัวให้กลายเป็นหินแข็งทับอยู่ชั้นหินลิกไนท์และหินดินดาน นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติเมื่อแผ่นดินบริเวณนี้ยกตัวขึ้นสูงซากหอยดึกดำบรรพ์เหล่านี้จึงปรากฏให้เห็นเป็นลานหินกว้างใหญ่ยื่นลงไปในทะเลและเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโลก ช่วงแรกประมาณกันว่าสุสานหอยแห่งนี้เกิดขึ้นเมื่อ 75 ล้านปีมาแล้วต่อมาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการค้นพบหลักฐานด้านธรณีวิทยามีมากขึ้นจึงกำหนดอายุของสุสานหอย ใหม่เหลือประมาณ 40-20 ล้านปี

สระมรกต

morakot1 morakot2

สระน้ำร้อน (Hot pool)

ในรูปแบบหนึ่งของพุน้ำร้อน เป็นสระน้ำร้อนทรงกลมใสสะอาด มีอุณหภูมิน้ำ ประมาณ 30-50 องศาเซลเซียส ในบริเวณใกล้เคียงนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 สระ สระมรกตเป็นสระที่นักท่องเที่ยวนิยมมากที่สุด น้ำในสระใสสวยสีมรกต และยังเปลี่ยนสีได้ อันเนื่องมาจากสาหร่าย (Algae) และแบคทีเรีย (Bacteria) ที่อาศัยอยู่ในสระน้ำร้อน ทำให้น้ำในสระมีสีต่าง ๆ กันตามอุณหภูมิของน้ำ บริเวณที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางพุน้ำร้อนซึ่งมีความร้อนสูงกว่าที่อื่นจะมีสีน้ำเงิน และมีสีเขียวเมื่อน้ำอุ่นขึ้น ส่วนตามขอบสระหรือตามร่องน้ำที่ไหลลงสระ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่น้ำร้อนพุขึ้นมานั้น จะมีสีน้ำตาลหรือสีขาว

สระมรกต

ได้รับการประกาศเป็นแหล่งท่องเที่ยว Unseen ของจังหวัดกระบี่ รอบ ๆ บริเวณเป็นป่าร่มรื่นเขียวครึ้ม มีพรรณไม้ที่น่าสนใจ รวมทั้งนกที่หาดูได้ยากเช่น นกแต้วแร้วท้องดำ นกกระเต็นสร้อยคำสีน้ำตาล และนกเงือกดำ เป็นต้น เส้นทางศึกษาธรรมชาติทีนา โจลิฟฟ์ (ทุ่งเตียว) ระยะทาง ๒.๗ กิโลเมตร ตลอดเส้นทางจะมีป้ายสื่อความหมายที่จะคอยบอกเล่าถึงเรื่องราวต่างๆ ในป่าให้นักเดินทางได้ศึกษาหาความรู้ได้ด้วยตนเอง สระมรกต สามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปีแต่สภาพที่ดีซึ่งจะเห็นสระเป็นสีเขียวมรกตสดใส มักจะเป็นช่วงเวลาเช้า และเย็น โดยเฉพาะในวันฤดูร้อนที่ท้องฟ้าสดใสปราศจากเมฆฝน

อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี

bok1 bok2

อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี

มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอ อ่าวลึกและอำเภอเมืองจังหวัดกระบี่ มีสภาพที่เป็นเขาสูงที่ทอดตัวในแนวเหนือใต้ เขาหินปูนที่มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชัน ป่าดงดิบ ธารน้ำใต้ภูเขา และบางส่วนเป็นหมู่เกาะในทะเลอันดามัน มีเกาะและถ้ำที่พบภาพเขียนซึ่งแสดงถึงอารยธรรมโบราณในดินแดนแถบนี้เช่นที่ ถ้ำผีหัวโต แหลมไฟไหม้ แหลมถ้ำเจ้ารี และแหลมท้ายแรด ซึ่งแต่ละแห่งก็มีความสวยงามแตกต่างกันไป อุทยานมีพืชพรรณที่หลากหลายไปตามสภาพของพื้นที่ ทั้งป่าดงดิบ ป่าพรุ ไปจนถึงป่าชายเลน การท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานฯส่วนมากอยู่ในรูปของเช้าไปเย็นกลับ โดยสามารถที่จะเข้ามาเล่นน้ำ บริเวณธารโบกขรณีและเดินชมธรรมชาติในบริเวณใกล้เคียง หรือการนั่งเรือชมทิวทัศน์ธรรมชาติทางทะเล ตามเกาะ และสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาตร์ ท้องทะเลหลายแห่งในพื้นที่อุทยานมีความสวยงาม หาดทรายขาว ปะการังสวย และอยู่ไม่ไกลจากชายฝั่ง จึงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาเที่ยวชมเมื่อมาถึงกระบี่

อ่าวมาหยา

maya1 maya2

อ่าวมาหยา

เวิ้งอ่าวขนาดเล็กรูปพระจันทร์เสี้ยวที่โอบล้อมด้วยขุนเขา ที่ทิวทัศน์ที่สวยงามอย่างยิ่ง น้ำทะเลสีเขียวสดใสจนแลเห็นพื้นทราย หาดทรายที่ขาวสะอาดทรายละเอียดเนียนนุ่มเป็นที่นิยมมาอาบแดด เล่นน้ำทะเลเดินเล่นชายหาดของนักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและชาวไทยครั้งหนึ่งอ่าวมาหยาถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนต์ต่างประเทศเรื่องดังเรื่องหนึ่ง ภาพแห่งความสวยงามถูกถ่ายทอดออกสู่สายตาชาวโลก ชื่อเสียงของอ่าวมาหยาเป็นที่รู้จักกันมากยิ่งขึ้น จนปัจจุบันอ่าวมาหยาเป็นที่ท่องเที่ยวชื่อดังอันดับต้นๆของโลก

ทะเลแหวก เกาะปอดะ เกาะไก่

marinepart1 marinepart2

ทะเลแหวก เกาะปอดะ เกาะไก่ เป็นสถานที่ยอดนิยมของกระบี่ อยู่ทางทิศใต้ของ อ่าวพระนาง ห่างจากชายฝั่งประมาณ 8 กิโลเมตรทำให้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมไม่มากนักเมื่อมองจากชายฝั่งจะเห็นทรายขาวได้แต่ไกล บริเวณรอบๆเกาะจะมีแนวปะการังหลากหลายชนิด น้ำทะเลใสสะอาดทำให้บริเวณนี้เป็นแหล่งดำน้ำตื้นที่น่าสนใจที่สามารถแวะมาเที่ยวชมเกือบตลอดปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดปรากฎการณ์ในช่วงน้ำลงบริเวณ เกาะทับเกาะหม้อ และ เกาะไก่ จะเชื่อมต่อกันโดยแนวทรายทำให้เกิดทัศนยภาพที่สวยงาม ดูแปลกตา เรียกว่า "ทะเลแหวก" ซึ่งขณะนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมจากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

ลึกล้ำเข้าไปกลางทะเลลึกแห่งอันดามัน ช่วงเวลาหนึ่งที่เรานั่งเรือชมเกาะรูปร่างสวยงามแปลกตา ใครจะเชื่อว่า อีกชั่วข้ามเวลาหนึ่งทะเลที่เราผ่านมาชั่วครู่ จะลดระดับน้ำ ดุจทะเลแหวกออกจนกลายเป็นหาดทรายขาวสะอาดเชื่อมเกาะสองเกาะสองเกาะอย่างน่าอัศจรรย์ มีลักษณะเป็นเกาะ 3 เกาะอยู่ในทะเล ยามเมื่อน้ำทะเลลดเป็นแนวยาว 2 เกาะสามารถเดินไปเที่ยวชมได้ซึ่งดูเหมือนเดินอยู่กลางทะเล จึงเรียกว่า ทะเลแหวก 

ทะเลแหวกสามารถชมได้ดีที่สุดในช่วงเวลาน้ำลงต่ำสุดในแต่ละวัน โดยเฉพาะในวันก่อน และหลังวันขึ้น 15 ค่ำ ราว 5 วัน ฤดูกาลท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปี 

การเดินทาง

ทะเลแหวกอยู่ในเขตอำเภอเมือง ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 20 กิโลเมตร จากจังหวัดกระบี่ใช้ทางหลวงหมายเลข 4034 แล้วเลี้ยวซ้ายตามทางหลวงหมายเลข 4202 ไปอ่าวพระนาง สามารถเช่าเรือเหมาลำ ได้ทั้งทางเรือหางยาว และเรือเร็ว